
โดยปรกติเรามักจะคิดว่าการให้แต้มในเกมมิฟิเคชันนั้นมีไว้เพื่อให้รางวัล เช่น สะสมแต้มเพื่อแลกรางวัล หรือ ส่วนลดเป็นต้น
แต่จริง ๆ แล้ว แต้มในเกมมีไว้เพื่อบอกว่า พฤติกรรมของลูกค้า/พนักงาน นั้นดีมากน้อยเพียงใด ถ้าเราอยากจูงใจให้ทำพฤติกรรมอะไร เราก็ให้แต้มเยอะ ถ้าไม่อยากให้ทำก็ให้แต้มน้อย ๆ หรือ ไม่ต้องให้แต้มไปเลย
พูดอีกนัยหนึ่ง แต้มมีไว้เพื่อเปลี่ยนให้พฤติกรรมอยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ครับ เพราะการกระทำปรกติมันจับต้องไม่ได้ เราไม่รู้เลยว่าที่ทำไปทั้งหมดนี้มันดีมากน้อยขนาดไหน จะต้องปรับปรุงตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งการให้แต้มจะช่วยตอบตรงนี้ได้
“You can’t improve what you don’t measure.” Peter Drucker ได้กล่าวไว้ครับ เกมมิฟิเคชันก็เช่นเดียวกันครับ
ยกตัวอย่างเช่นเกม Angry Birds ที่เวลาจบแต่ละด่าน เราจะได้ดาวมา ถ้าทำได้ดีมาก ก็ได้ 3 ดาว ถ้าทำไม่ค่อยดี ก็ดาวเดียว แบบนี้เป็นต้น ทีนี้พอเล่นได้ดาวเดียว เราก็รู้ตัวแล้วว่าด่านต่อไปต้องทำให้ดีขึ้น หรือ จะเล่นด่านนี้ซ้ำอีกทีก็ได้ ให้ได้ 3 ดาว
อย่างตัวผมเองนี่ เวลาเล่นด่านไหนไม่ได้ 3 ดาวแล้วชอบหงุดหงิด อยากจะเล่นซ้ำอีกทีให้ได้ 3 ดาว แต่ก็ทำไม่ได้ทุกด่านอ่ะนะ ^ ^”
.
ซึ่งพอมีแต้มแล้ว เราก็สามารถเอาไปผูกกับ Progress, Level, Reward, Status หรืออะไรก็ได้ เพื่อจูงใจคนเล่นเพิ่มขึ้นอีกครับ
.
แก่นของเกมมิฟิเคชัน คือ การให้ Feedback กับผู้เล่น เป็นการสื่อสารกับผู้เล่นว่าที่เขาเพิ่งทำลงไปมันดีนะ เรากำลังจูงใจเขา ด้วยการให้กำลังใจ และ ชื่นชม คือให้แต้มเวลาทำพฤติกรรมดี ๆ สำเร็จ แต่เราจะไม่หักแต้มเวลาทำไม่ดี หรือ ทำไม่สำเร็จ
การหักแต้มนี้ห้ามเด็ดขาดเลยนะครับ เป็นกฎเหล็กสำหรับการเอาแต้มไปใช้เลย ผู้เล่นจะเสียกำลังใจมาก ลองนึกภาพดูว่าอุตส่าห์ทำแต้มมาเกือบตายแล้วโดนหักเนี่ย เสียกำลังใจมาก พาลจะเกลียดเกมมิฟิเคชันของเราไป
การทำผลงานไม่ดี แล้วแต้มขึ้นช้า ยังดีกว่าการทำไม่ดีแล้วโดนหักแต้ม ครับ
แล้วถ้าอยากจะหักแต้มล่ะ ทำยังไงดี … ก็แนะนำให้ทำระบบแต้มอีกอันขึ้นมา มีไว้ให้หักโดยเฉพาะครับ เหมือนคะแนนจิตพิสัย ที่ถ้าทำไม่ดีถึงจะโดนหัก แต่เราจะไม่ไปหักที่เกรดของเด็ก แบบนี้ดีกว่าครับ
#gamification ตอนที่30