
เป็นหนังสือว่าด้วย เทคนิคเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจ ว่าเราจะสามารถจูงใจตัวเองได้อย่างไรบ้าง ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ซึ่งหนังสือจะเน้นไปทางการสร้างแรงจูงใจให้ทำอย่าง “ต่อเนื่อง” …ประมาณว่าไม่ท้อแท้เลิกทำไปก่อน
ตอนแรกที่หยิบมาอ่าน ก็ยอมรับนะครับว่า คงไม่ได้มีอะไรใหม่ คิดว่าคงจะเหมือนเล่มอื่น ๆ แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่เขียนในเล่มนี้ค่อนข้างใหม่มากเลย ไม่ได้อ่านเจอในเล่มอื่น ๆ เท่าไหร่
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
.
สร้างแรงจูงใจให้ตัวเองสามารถทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร?
หนังสือบอก ได้มีงานวิจัยวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสร้างแรงจูงใจให้เราทำ Tracking Progress ครับ คือการบันทึกว่า ตอนนี้เราคืบหน้ามาแค่ไหนแล้ว และ ยังเหลืออีกเท่าไหร่กว่าจะบรรลุเป้าหมาย … ง่าย ๆ แค่นี้เลย
เหมือนกับการออกวิ่งมาราธอน ที่เราต้องรู้ว่าตอนนี้วิ่งมาแล้วกี่กิโล แล้วยังขาดอีกเท่าไหร่
การได้รู้ความคืบหน้านี้ จะช่วยให้เราได้มองย้อนเห็นว่า เราได้ผ่านมาไกลขนาดไหนแล้ว ได้ทุ่มเทไปกับงานนี้เท่าไหร่แล้ว ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจ และ จูงใจให้กับเราก้าวเดินต่อไปจนบรรลุเป้าหมาย
.
Tracking Progress แบบไหนดี?
แต่การ Tracking Progress นี่ ก็ทำได้สองแบบนะคือ มองว่า “ผ่าน” มาเท่าไหร่แล้ว และ มองว่า “เหลือ” ที่ต้องทำอีกเท่าไหร่
ถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน … คำตอบคือดีทั้งคู่ครับ
โดยปรกติแล้ว คนเราจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เวลาเข้าใกล้เป้าหมายครับ เหมือนกับบัตรสะสมแต้มร้านกาแฟ ที่ให้ 10 ฟรี 1 คือ ตอนแก้วแรก ๆ เรามักจะเฉย ๆ แต่พอได้ซัก 8-9 แก้วแล้ว เราจะอยากไปร้านกาแฟมากขึ้น เพราะใกล้จะได้กาแฟฟรีแล้ว
แต่การมองว่ายังขาด ยังไม่ได้ทำ ก็ช่วยเหมือนกันครับ
เหมือนกับ เวลายังมีจานกองเต็มไม่ได้ล้าง เราจะรู้สึกทนไม่ได้ต้องทำอะไรซักอย่าง นั่นคือ เวลาเรารู้สึก Falling behind ว่ามีอะไรซักอย่างยังไม่ได้ทำ ล้าหลังไปละ เราจะรู้สึกอยากหยิบงานนั้นขึ้นมาทำ
เช่น เราอาจจะมีหลายงานต้องทำ แล้วมีงานนึงมาช้ากว่าแผนไปมาก เราอาจจะรู้สึกว่าต้องหยิบงานนี้มาทำละ พองานนี้คืบหน้าจนถึงระดับที่น่าพอใจ เราก็ย้ายไปทำงานอื่นที่ยังล้าหลังอยู่ วนไปแบบนี้เรื่อย ๆ 555
แล้วตกลงเราจะเลือกมองแบบไหน ตอนไหนดี
หนังสือให้คำแนะนำว่า ถ้านึกไม่ออก เลือกไม่ถูกก็คิดว่า … ถ้างานนี้เราเป็นมือใหม่ ไม่ค่อยชัวร์ ให้มองว่า “คืบหน้า” มาเท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าเราเป็นมืออาชีพในงานนี้ ให้มองว่า ยัง”ขาด”เท่าไหร่ ครับ
เช่น คนที่เพิ่งหัดออกกำลังกาย การมองว่า นี่เราออกกำลังกายมาได้ 3 วันละนะ มันสร้างความมั่นใจและจูงใจให้ทำต่อเนื่องได้ ในขณะที่ คนที่เข้ายิมเป็นประจำ อาจจะควรมองว่า นี่ไม่ได้เข้ายิมมา 2 วันแล้วนะ ยังวิ่งได้ไม่ถึงเป้าเลย เป็นต้น
หรืออีกเทคนิคเรียกว่า small-area principle … คือให้มองข้างที่น้อยกว่า ครับ เช่นช่วงต้น ให้มองว่า ผ่านมาเท่าไหร่แล้ว แต่พอช่วงท้าย ให้มองว่า เหลืออีกไม่เท่าไหร่แล้ว … แบบนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจได้
.
จุดที่ยากที่สุดคือ “กลางทาง”
กลางทางคือจุดที่คนจะเลิกทำมากที่สุดครับ เพราะมันเป็นจุดวัดใจของหลาย ๆ คน แบบว่า ผ่านมาก็ไกล แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะกิจกรรมที่หาจุดจบยาก เช่น ฝึกเล่นดนตรีเป็นต้น ที่หลาย ๆ คน อาจจะสนุกตอนแรก แต่พอผ่านมาเรื่อย ๆ แล้วก็เลิกไป
สิ่งนี้เรียกว่า “middle problem” ประมาณกว่า ยืนงง ๆ อยู่ตรงกลาง
ทางออกที่หนังสือแนะนำ คือ ทำให้ ตรงกลางสั้นที่สุดครับ คือ แทนที่จะมองเป้าหมายเป็นรายเดือน ให้ซอยเป็นรายอาทิตย์แทน เช่น แทนที่จะตั้งเป้าว่า เดือนนี้อยากจะวิ่งได้กี่กิโล ก็ให้ซอยลงมาว่า สัปดาห์นี้เราอยากวิ่งได้กี่กิโลแทน ซึ่งจะทำให้เราผ่านจุดตรงกลางไปได้เร็วขึ้น
หรือ ถ้าเป็นเรื่องงาน ก็คือการปรับเป้าให้ตัวเองว่า สิ่งที่โปรเจคนี้ต้องทำให้เสร็จในสัปดาห์นี้คืออะไร จะสามารถจูงใจเราได้มากกว่า มองว่า เรามีเป้าอะไรในอีก 6 เดือนข้างหน้า
.
แล้วถ้าทำไม่ได้ตามแผนหล่ะ?
ความล้มเหลวเป็นเรื่องปรกติครับ หลาย ๆ งานเราตั้งใจทำ และ ทำได้เต็มที่แล้ว แต่ก็ยังล้มเหลว เราจะทำอย่างไรดีให้ไม่ท้อแท้ไปเสียก่อน เหมือนกับการทำวิจัยของนักศึกษาป.โทป.เอก ที่ทำดีที่สุดแล้วแต่ก็ยัง fail แล้ว fail อีก
หนังสือบอกว่า การเรียนรู้จากความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เร็วที่สุด ที่จะทำให้เดินไปข้างหน้าได้ … แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำใจยากมากครับ
เราไม่ทางรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะ สำเร็จ หรือ ล้มเหลว แต่เรามั่นใจได้แน่นอนว่า เราต้องได้เรียนรู้อะไรบางอย่างแน่นอน การคิดแบบนี้จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับเราได้อย่างต่อเนื่องครับ
เรียกง่าย ๆ ว่า growth mindset นั่นเอง
.
สอนคนอื่น
ไม่น่าเชื่อนะครับ แม้ว่าเรายังไม่บรรลุเป้าหมาย ยังไม่เก่งในเรื่องนั้น ๆ แต่จากการศึกษา ได้พบว่า การที่เราได้สอนคนอื่นในเรื่องที่เรากำลังทำอยู่นั้น จะช่วยให้เราสร้างแรงจูงใจให้ตัวอย่างได้อย่างต่อเนื่องด้วย
เช่น เราอาจจะพยายามเก็บเงินอยู่ แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง การที่เราได้สอนคนอื่น แชร์ประสบการณ์ (ทั้งดี/ไม่ดี) จะช่วยให้เราได้ทบทวนความรู้ รวมถึงสิ่งที่ทำว่า มีอะไรบ้างที่เรายังทำได้ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้เราเกิดแรงจูงใจที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ได้มากกว่า นั่งทำไปเงียบ ๆคนเดียว
.
แนะนำให้ลองหาอ่านกันครับ โดยเฉพาะคนที่อยากจะหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้เกิดตัวเอง หรือ คนอื่น อย่างต่อเนื่อง
จริง ๆ แล้วที่เขียนมานี่ แค่ส่วนเดียวของหนังสือครับ ยังมีอีกเยอะมาก ที่ไม่ได้เล่า 555
อ่านแล้วลองเอาไปปรับใช้กันได้ครับ ผมก็ว่าจะลองเอามาปรับใช้กับตัวเองเหมือนกัน
เล่มที่ 42 / 2565