รีวิวหนังสือ “พีระมิดสามสุข”

เป็นหนังสือที่ตอนแรกไม่ได้คิดจะหยิบขึ้นมาอ่านเลย จนไปพลิก ๆ ดูแล้วเจอว่าคนเขียนคือ คุณชิอน คาบาซาวะ แบบว่าผมเป็นแฟนของนักเขียนคนนี้
ก็เลยซื้อมาอ่านทันที ไม่ผิดหวังครับ คนอะไรเขียนหนังสือได้เข้าใจง่ายและสนุก อยากเขียนได้แบบนี้บ้าง
แนะนำให้ทุกท่านลองอ่านกัน
หนังสือจะว่าด้วยแนวทางการสร้างความสุขให้กับชีวิต แต่ที่เด็ดกว่าหนังสือเล่มอื่นคือ เล่มนี้จะอธิบายด้วยสารเคมีในสมอง ว่าแต่ละตัวทำงานอย่างไร ส่งเสริมกันยังไง แล้ว เราจะสร้างสารเหล่าได้นี้อย่างไรบ้าง
.
ความสุข 3 แบบ
หนังสือบอกสารเคมีในสมองมีอยู่ 3 ตัวหลัก ๆ ที่สร้างความสุขให้กับเรา ได้แก่
เซโรโทนิน – ตัวนี้เป็นรากฐานของทั้งหมด คือ ความสุขที่ได้จากการมีสุขภาพกายและใจที่ดี
ออกซิโตซิน – เป็นความสุขจากความรัก ความผูกพัน มิตภาพ และ การได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
โดพามีน – เป็นความสุขยอดบนสุดของปิรามิด คือ ความสุขจากทรัพย์สิน ความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ซึ่งเวลาเราเล่นเกมแล้วมีความสุข ก็เพราะจากโดพามีนนี้หล่ะ
.
ความสุข 3 ตัวนี้ต้องประสานกัน มีให้ครบ เน้นบางตัวไปสุดท้ายก็จะพัง เช่น เน้นแต่ความสำเร็จ (โดพามีน) จนหักโหมลืมสุขภาพ (เซโรโทนิน) สุดท้ายก็จะพัง
การไม่ดูแลสุขภาพจะทำให้ขาดเซโรโทนิน จะทำให้เรา ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิดง่าย ท้อแท้ ซึ่งก็จะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในแง่ความสัมพันธ์และการทำงาน
การสร้างความสุขแบบยั่งยืนต้องทำฐานให้มั่นคง คือ มีสุขภาพกายใจให้ดีก่อน ให้ความสำคัญกับครอบครัว คนรอบข้าง แล้วค่อยมาที่ งาน และ ความสำเร็จ
หรือก็คือ เซโรโทนิน ออกซิโตซิน โดพามีน
ส่วนตัวผมว่า ฟังดูก็ไม่ได้ใหม่มาก แต่พอได้อ่านการอธิบายในเชิงสารเคมีแล้วสนุกดี เห็นภาพไปอีกแบบ แนะนำให้ไปอ่านกัน
.
7 เทคนิคการสร้าง เซโรโทนิน (สุขภาพกายใจ)
- นอนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เดินตอนเช้าสัมผัสแสงแดด
- ตระหนักรู้ถึงความสุขเล็ก ๆ ในปัจจุบัน เช่น วันนี้ออกกำลังกายได้มากกว่าเมื่อวาน แค่นี้ก็พอแล้ว สะสมความสุขเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ หนังสือบอก คนที่ไม่ตระหนักถึงความสุขเล็ก ๆ ก็มักจะไม่เห็นความสุขที่ใหญ่กว่า
- เดินตอนเช้าอย่างมีสติ
- รู้จักผ่อน รู้จักเร่ง คือ หาเวลาพักบ้าง ไม่ใช้โหมทำงานอย่างเดียว
- ทำสมาธิหลังตื่นนอน
- สร้าง output ความสุขเล็ก ๆ เช่น เขียนว่าวันนี้มีความสุขอะไรบ้าง 3 อย่าง
- ใช้ชีวิตกลางธรรมชาติ
.
7 เทคนิคการสร้าง ออกซิโทซิน (ความผูกพัน)
- แสดงความซาบซึ้งใจ และ บันทึกความซาบซึ้งใจ หรือ ง่าย ๆ คือ กล่าวคำขอบคุณให้กับคนรอบข้าง
- แสดงน้ำใจ หรือ บันทึกการมีน้ำใจ เช่น ลุกให้คนนั่งบนรถเมล บอกทางคนที่หลงทาง เป็นต้น
- ครอบครัวและเพื่อนสำคัญ คือ การได้กอด เล่นกับคนในครอบครัว หรือ พูดคุยสังสรรค์กับเพื่อน
- เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- มีส่วนร่วมในชุมชม เช่น ทำกิจกรรมอาสา
- สร้างชุมชน เช่น หากิจกรรมที่ชอบ แล้วชวนคนอื่นมาทำร่วมก้น
- เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ เช่น ได้กอดสัตว์เลี้ยง
.
7 เทคนิคการสร้างโดพามีน (ความสำเร็จ)
- ซาบซึ้งกับเงินทองสิ่งของ เป็นการเชื่อมโยงโดพามีนเข้ากับออกซิโทซิน
- การควบคุม คือ การคุมไม่ให้ตัวเองเสพติดอะไรบางอย่างเกินไป เช่นการดื่ม หรือ การเล่นเกม การหลงไปกับสิ่งที่สนุกเพลิดเพลินแม้จะได้โดพามีนเยอะ แต่ความอยากจะนำไปสู่การเสพติดได้ ต้องควบคุมบ้าง
- พัฒนาตนเอง จะสร้างความภูมิใจให้ตนเองครับ ซึ่งเป็นความสุขยอดบนสุด
- ทดลองทำสิ่งที่ท้าทาย คือให้ลองออกจากคอมฟอร์ตโซนบ้าง
- ทำให้ใจเต้นตึกตักบ้าง เช่น ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หาประสบการณ์ใหม่ ๆ
- การให้ แต่ไม่ใช่ให้จนตัวเองลำบากนะ แต่คือการให้ ที่ไม่เกินขีดจำกัดของตัวเอง ให้แบบมีความสุข
- ค้นหางานของชีวิต คือ งานที่เราทำมักจะเป็นการเพื่อดำรงชีพ หรือ งานที่ชอบ แต่หนังสือบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ค่อย ๆ ค้นหางานแห่งชีวิต คือ ประมาณว่า ฉันเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เป็นการค้นพบตัวตน
.
ยาวนิดนะครับ แต่ก็พยายามสรุปใจความให้ครบในโพสเดียว ตอนแรกกะจะเขียนต่อเนื่อง ๆ หลาย ๆ ตอน แต่ก็กลัวว่าจะไม่เข้ากับธีมเพจที่เน้นเกมมิฟิเคชัน เลยคิดว่า เอายาวหน่อย แต่ครบเลยดีกว่า
ก็ยังมีอีกหลายอย่างมากที่หนังสือเล่า แต่ไม่ได้เอามาเขียน ถ้าท่านใดสนใจก็ไปอ่านได้นะครับ เล่มนี้แนะนำเลย
.
เล่มนี้ก็ช่วยให้ผมเข้าใจกลไกของเกมมิฟิเคชันมากขึ้นนะ ว่ามันทำงานกับโดพามีนยังไง แล้ว เราจะเอาพวก PBL ไปโยงกับออกซิโทซิน และ เซโรโทนินได้ยังไง ให้การจูงใจของเรานั้นยั่งยืนครับ
เล่มที่ 43 / 2565